๗.คำอุทาน
คำอุทาน หมายถึง คำที่แสดงอารมณ์ของผู้พูดในขณะที่ตกใจ ดีใจ เสียใจ ประหลาดใจ หรืออาจจะเป็นคำที่ใช้เสริมคำพูด เช่นคำว่า อุ๊ย เอ๊ะ ว้าย โธ่ อนิจจา อ๋อ เป็นต้น เช่น
- เฮ้อ! ค่อยยังชั่วที่เขาปลอดภัย
- เมื่อไรเธอจะตัดผมตัดเผ้าเสียทีจะได้ดูเรียบร้อย
ชนิดของคำอุทาน
คำอุทานแบ่งเป็น ๒ ชนิด ดังนี้
๑. คำอุทานบอกอาการ เป็นคำอุทานที่แสดงอารมณ์ และความรู้สึกของผู้พูด เช่น
ตกใจ ใช้คำว่า วุ้ย ว้าย แหม ตายจริง
ประหลาดใจ ใช้คำว่า เอ๊ะ หือ หา
รับรู้ เข้าใจ ใช้คำว่า เออ อ้อ อ๋อ
เจ็บปวด ใช้คำว่า โอ๊ย โอย อุ๊ย
สงสาร เห็นใจ ใช้คำว่า โธ๋ โถ พุทโธ่ อนิจจา
ร้องเรียก ใช้คำว่า เฮ้ย เฮ้ นี่
โล่งใจ ใช้คำว่า เฮอ เฮ้อ
โกรธเคือง ใช้คำว่า ชิชะ แหม
๒. คำอุทานเสริมบท เป็นคำอุทานที่ใช้เป็นคำสร้อยหรือคำเสริมบทต่างๆ คำอุทานประเภทนี้บางคำเสริมคำที่ไม่มีความหมายเพื่อยืดเสียงให้ยาวออกไป บางคำก็เพื่อเน้นคำให้กระชับหนักแน่น เช่น
- เดี๋ยวนี้มือไม้ฉันมันสั่นไปหมด
- หนังสือหนังหาเดี๋ยวนี้ราคาแพงมาก
- พ่อแม่ไม่ใช่หัวหลักหัวตอนะ
หน้าที่ของคำอุทาน มีดังนี้คือ
๑. ทำหน้าที่แสดงความรู้สึกของผู้พูด เช่น
- ตายจริง! ฉันลืมเอากระเป๋าสตางค์มา
- โธ่! เธอคงจะหนาวมากละซิ
- เอ๊ะ! ใครกันที่นำดอกไม้มาวางไว้ที่โต๊ะของฉัน
๒. ทำหน้าที่เพิ่มน้ำหนักของคำ ซึ่งได้แก่คำอุทานเสริมบท เช่น
- ทำเสร็จเสียทีจะได้หมดเรื่องหมดราวกันไป
- เมื่อไรเธอจะหางงหางานทำเสียที
- เธอเห็นฉันเป็นหัวหลักหัวตอหรืออย่างไร
๓. ทำหน้าที่ประกอบข้อความในคำประพันธ์ เช่น
- แมวเอ๋ยแมวเหมียว
- มดเอ๋ยมดแดง
- กอ เอ๋ย กอไก่