๖.คำสันธาน
คำสันธาน หมายถึง คำที่ใช้เชื่อมประโยค หรือข้อความกับข้อความ เพื่อทำให้ประโยคนั้นรัดกุม กระชับและสละสลวย เช่นคำว่า และ แล้ว จึง แต่ หรือ เพราะ เหตุเพราะ เป็นต้น เช่น
- เขาอยากเรียนหนังสือเก่งๆ แต่เขาไม่ชอบอ่านหนังสือ
- เขามาโรงเรียนสายเพราะฝนตกหนัก
ชนิดของคำสันธาน
คำสันธานแบ่งเป็น ๔ ชนิด ดังนี้
๑. คำสันธานที่เชื่อมความคล้อยตามกัน ได้แก่คำว่า และ ทั้ง...และ ทั้ง...ก็ ครั้น...ก็ ครั้น...จึง ก็ดี เมื่อ...ก็ว่า พอ...แล้ว เช่น
- ทั้งพ่อและแม่ของผมเป็นคนใต้
- พอทำการบ้านเสร็จแล้วฉันก็นอน
๒. คำสันธานที่เชื่อมความขัดแย้งกัน เช่นคำว่า แต่ แต่ว่า กว่า...ก็ ถึง...ก็ เป็นต้น เช่น
- ผมต้องการพูดกับเขา แต่เขาไม่ยอมพูดกับผม
- กว่าเราจะเรียนจบเพื่อนๆ ก็ทำงานหมดแล้ว
๓. คำสันธานที่เชื่อมข้อความให้เลือก ได้แก่คำว่า หรือ หรือไม่ ไม่...ก็ หรือไม่ก็ ไม่เช่นนั้น มิฉะนั้น...ก็ เป็นต้น เช่น
- นักเรียนชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์หรือภาษาไทย
- เธอคงไปซื้อของหรือไม่ก็ไปดูหนัง
๔ คำสันธานที่เชื่อมความที่เป็นเหตุเป็นผล ได้แก่คำว่า เพราะ เพราะว่า ฉะนั้น...จึง ดังนั้น เหตุเพราะ เหตุว่า เพราะฉะนั้น...จึง เป็นต้น เช่น
- นักเรียนมาโรงเรียนสายเพราะฝนตกหนัก
- เพราะวาสนาไม่ออกกำลังกายเธอจึงอ้วนมาก
หน้าที่ของคำสันธาน มีดังนี้คือ
๑. เชื่อมประโยคกับประโยต เช่น
- เขามีเงินมากแต่เขาก็หาความสุขไม่ได้
- พ่อทำงานหนักเพื่อส่งเสียให้ลูกๆ ได้เรียนหนังสือ
- ฉันอยากได้รองเท้าที่ราคาถูกและใช้งานได้นาน
๒. เชื่อมคำกับคำหรือกลุ่มคำ เช่น
- สมชายลำบากเมื่อแก่
- เธอจะสู้ต่อไปหรือยอมแพ้
- ฉันเห็นนายกรัฐมนตรีและภริยา
๓. เชื่อมข้อความกับข้อความ เช่น
- ชาวต่างชาติเข้ามาอยู่เมืองไทย เขาขยันหมั่นเพียรไม่ยอมให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์เขาจึงร่ำรวย จนเกือบจะซื้อแผ่นดินไทยได้ทั้งหมดแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้พี่น้องชาวไทยทั้งหลายจงตื่นเถิด จงพากันขยันทำงานทุกชนิดเพื่อจะได้รักษาผืนแผ่นดินของไทยไว้