๒.คำสรรพนาม
คำสรรพนาม หมายถึง คำที่ใช้แทนคำนามที่กล่าวถึงมาแล้ว เพื่อจะได้ไม่ต้องกล่าวคำนามนั้นซ้ำอีก เช่นคำว่า ฉัน เรา ดิฉัน กระผม กู คุณ ท่าน ใต้เท้า เขา มัน สิ่งใด ผู้ใด นี่ นั่น อะไร ใคร บ้าง เป็นต้น
ชนิดของคำสรรพนาม
คำสรรพนามแบ่งออกเป็น ๖ ชนิด ดังนี้
๑. บุรุษสรรพนาม คือ คำ สรรพนามที่ใช้แทนผู้พูด แบ่งเป็นชนิดย่อยได้ ๓ ชนิด คือ
๑.๑ สรรพนามบุรุษที่ ๑ ใช้แทนตัวพูด เช่น ผม ฉัน ดิฉัน กระผม ข้าพเจ้า กู เรา ข้าพระพุทธเจ้า อาตมา หม่อมฉัน เกล้ากระหม่อม
๑.๒ สรรพนามบุรุษที่ ๒ ใช้แทนผู้ฟัง หรือผู้ที่เราพูดด้วย เช่น คุณ เธอ ใต้เท้า ท่าน ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ฝ่าพระบาท พระคุณเจ้า
๑.๓ สรรพนามบุรุษที่ ๓ ใช้แทนผู้ที่กล่าวถึง เขา มัน ท่าน พระองค์
๒. ประพันธสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามและใช้เชื่อมประโยคทำหน้าที่เชื่อมประโยคให้มีความสัมพันธ์กัน ได้แก่คำว่า ที่ ซึ่ง อัน ผู้
๓. นิยมสรรพนาม คือ สรรพนามที่ใช้แทนนามชี้เฉพาะเจาะจงหรือบอกกำหนดความให้ผู้พูดกับผู้ฟังเข้าใจกัน ได้แก่คำว่า นี่ นั่น โน่น
๔. อนิยมสรรนาม คือ สรรพนามใช้แทนนามบอกความไม่ชี้เฉพาะเจาะจงที่แน่นอนลงไป ได้แก่คำว่า อะไร ใคร ไหน ได บางครั้งก็เป็นคำซ้ำๆ เช่น ใครๆ อะไรๆ ไหนๆ
๕. วิภาคสรรพนาม คือ สรรพนามที่ใช้แทนคำนาม ซึ่งแสดงให้เห็นว่านามนั้นจำแนกออกเป็นหลายส่วน ได้แก่คำว่า ต่าง บ้าง กัน เช่น
- นักเรียน"บ้าง"เรียน"บ้าง"เล่น - นักเรียน"ต่าง"ก็อ่านหนังสือ
๖. ปฤจฉาสรรพนาม คือ สรรพนามที่ใช้แทนนามที่เป็นคำถาม ได้แก่คำว่า อะไร ใคร ไหน ผู้ใด สิ่งใด ผู้ใด ฯลฯ เช่น
- "ใคร" ทำแก้วแตก - เขาไปที่ "ไหน"
หน้าที่ของคำสรรพนาม มีดังนี้คีอ
๑. เป็นประธานของประโยค เช่น
- "เขา"ไปโรงเรียน - "ใคร"ทำดินสอตกอยู่บนพื้น
๒. ทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยค (ผู้ถูกกระทำ) เช่น
- ครูจะตี"เธอ"ถ้าเธอไม่ทำการบ้าน - คุณช่วยเอา"นี่"ไปเก็บได้ไหม
๓. ทำหน้าที่เป็นส่วนเติมเต็มหรือส่วนสมบูรณ์ เช่น
- กำนันคนใหม่ของตำบลนี้คือ"เขา"นั่นเอง - เขาเป็น"ใคร"
๔. ใช้เชื่อมประโยคในประโยคความซ้อน เช่น
- ครูชมเชยนักเรียน"ที่"ขยัน
๕. ทำหน้าที่ขยายนามที่ทำหน้าที่เป็นประธานหรือกรรมของประโยค เพื่อเน้นการแสดงความรู้สึกของผู้พูด จะวางหลังคำนาม เช่น
- คุณครู"ท่าน"ไม่พอใจที่เราไม่ตั้งใจเรียน - ฉันแวะไปเยี่ยมคุณปู่"ท่าน"มา